ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ดินในราชอาณาจักรไทยทั้งหมดเป็นสิทธิเด็ดขาดของพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์อาจจะยกให้แก่ผู้ใดก็ได้ เช่น ให้ข้าราชการเป็นบำเหน็จความดีความชอบให้ราษฎรเข้าทำกิน แต่ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเรียกคืน (เวนคืน) เมื่อใดก็ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด ต่อมาได้ยินยอมให้ราษฎรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จึงได้มีการแบ่งแยกประเภทที่ดินของรัฐขึ้นว่า ประเภทใดเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินและประเภทใดเป็นที่ซึ่งราษฎรมีสิทธิในที่ดินได้ ความจำเป็นในการจัดการที่ดินของรัฐ และในส่วนที่ใช้ในกิจการของรัฐบาลก็ได้มีพระราชบัญญัติกรมราชพัสดุ ร.ศ. 109 (ประมาณ พ.ศ. 2433) ขึ้นเป็นแบบแผนสำหรับราชการกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ โดยมีอธิบดีกรมราชพัสดุอยู่ในบังคับเสนาบดีพระคลังมหาสมบัติมีหน้าที่รับผิดชอบราชการในกรมราชพัสดุ ทำหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินที่มีหรือสงวนไว้ใช้ในราชการซื้อสิ่งของต่างๆ ไว้ใช้ในราชการ หรือให้ขายสิ่งของให้กรมต่างๆ โดยกรมนั้นๆ จะตกลงกับกระทรวงพระคลัง มหาสมบัติจะเบิกเป็นเงินหรือเป็นของหรือทำหน้าที่ขายทรัพย์สินที่เลิกใช้ราชการแล้ว
พระราชบัญญัติกรมราชพัสดุ ร.ศ. 109 มิได้บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า ที่ตึกที่ดินหลวงประเภทใดบ้างที่อยู่ในอำนาจการจัดการของกรมราชพัสดุ ส่วนราชการต่างๆ จึงยังคงถือครองที่ดินและอาคาร รวมทั้งดำเนินการจัดหาประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวอยู่ต่อไปโดยมิได้ส่งมอบให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ จนถึง ร.ศ. 140 ตรงกับ พ.ศ. 2464 รองเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเห็นว่า สมควรที่จะรวบรวมที่ราชพัสดุไว้ที่กระทรวงพระคลังมหาสมบัติเพียงแห่งเดียว จึงได้มีหนังสือที่ 205/23400 ลงวันที่ 14 มีนาคม พุทธศักราช 2464 กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ขอพระราชทานราชานุญาตจัดการกับเจ้ากระทรวงต่างๆ ให้รวบรวมบรรดาที่ดินของหลวงอันยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกกระทรวงนั้นมาขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุไว้ทางกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเสียทางเดียว เมื่อกระทรวงและกรมต่างๆ ต้องการที่หลวงเพื่อประโยชน์ราชการแผนกใดอย่างไรก็ยืมไปเพื่อประโยชน์ราชการนั้นได้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการที่ 65/507 วันที่ 25 มีนาคม พุทธศักราช 2464 เห็นชอบให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดการกับกระทรวงต่างๆ เพื่อรวบรวมบรรดาที่ดินของหลวงในกระทรวงต่างๆ มาขึ้นทะเบียนไว้ทางกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเสียทางเดียว เพื่อปกครองเป็นหลักฐานสืบไป ซึ่งพระบรมราชโองการที่ 65/507 ดังกล่าวมีสภาพบังคับเป็นกฎหมายที่กระทรวงและกรมต่างๆ ต้องปฏิบัติตาม
แม้ว่าจะได้มีพระบรมราชโองการดังกล่าวแล้วก็ตาม ในทางปฏิบัติก็ยังคงมีปัญหาอยู่ เพราะความหมายของคำว่า “ที่ดินราชพัสดุ” หรือ “ที่ราชพัสดุ” ยังไม่เป็นที่เข้าใจตรงกัน แม้กระทรวงการคลังจะได้ออกระเบียบและปรับปรุงระเบียบเกี่ยวกับที่ดิน สิ่งปลูกสร้างราชพัสดุเรื่อยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2465 – 2485 ปัญหาการโต้แย้งกับส่วนราชการอื่นก็ยังมีอยู่ ประกอบกับหลังจากที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 มีการออกกฎหมายต่างๆ มาบังคับใช้อีกมาก เป็นต้นว่า พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการหวงห้ามที่ดิน พระราชบัญญัติเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดิน ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติจึงก่อให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ
ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2518 กระทรวงการคลังได้ขอออกกฎหมาย 2 ฉบับ เพื่อแก้ปัญหาในการบริหารจัดการที่ราชพัสดุ คือ พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 โดยให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า เนื่องในปัจจุบันนี้ไม่มีกฎหมายว่าด้วยการปกครองดูแลรักษาที่ราชพัสดุให้เป็นไป โดยมีระเบียบและหลักเกณฑ์ที่แน่นอนทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในทางปฏิบัติหลายประการ สมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบที่ราชพัสดุขึ้นโดยเฉพาะ โดยให้กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการนี้เพื่อการประหยัดและขจัดปัญหางานซ้ำซ้อนกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้น และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2515 (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2518 โดยให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า โดยที่ได้มีกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุโดยให้กระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแลและบำรุงรักษา รวมทั้งจัดหาประโยชน์และทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ สมควรแก้ไขอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515 ให้สอดคล้องกัน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ขึ้นเพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลังในกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ให้ชัดเจน ซึ่งพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 54 ฉบับพิเศษ พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2518 เป็นต้นมา
ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 4 “ที่ราชพัสดุ” หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 บัญญัติไว้ว่า “ท่านห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของแผ่นดินไม่ว่าทรัพย์สินนั้นจะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่” จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น จะมีทั้งประเภทที่เป็นทรัพย์สินธรรมดาและประเภทที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังนั้น ที่ราชพัสดุจึงแยกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
คำว่า “อสังหาริมทรัพย์” ทรัพย์สินใดบ้างที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ จะพิจารณาได้จากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 139 ที่บัญญัติไว้ว่า“ อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวร หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นและหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินหรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดิน หรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย ” ดังนั้น ที่ราชพัสดุจึงหมายความรวมถึงทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ทุกลักษณะตามมาตรา 139 ดังกล่าว
ดำเนินการเกี่ยวกับการปกครอง ดูแล การบำรุงรักษา และบริหารจัดการทรัพย์สินภาครัฐในการใช้และการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุ การพัฒนาศักยภาพที่ราชพัสดุรวมถึงปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ทะเบียนที่ราชพัสดุ คือเอกสารที่ทางราชการ โดยกรมธนารักษ์กระทรวงการคลังจัดทำขี้น สำหรับใช้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุ เพื่อประโยชน์ในการปกครองดูแล บำรุงรักษา โดยได้จำแนกทะเบียนที่ราชพัสดุตามลักษณะการใช้ประโยชน์เป็น 4 ประเภท ดังนี้
รายละเอียดเพิ่มเติม_(Adobe Acrobat :format pdf file)
ที่ราชพัสดุ คือ อสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลไทย ที่ตั้งอยู่ภายในประเทศ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ สำหรับอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ ในต่างประเทศ กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธ์เช่นเดียวกัน แต่ไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ การเก็บรักษาเอกสารสิทธิ์และการจัดทำทะเบียน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้เก็บรักษาต้นฉบับเอกสารสิทธิ์และจัดทำทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ การใช้การปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ให้กระทรวงการต่างประเทศ หรือส่วนราชการที่ได้รับมอบอำนาจจากระทรวงการคลัง เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ การซื้อให้กระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้จัดซื้อเพื่อใช้ในราชการ กระทรวงต่างประเทศหรือให้ส่วนราชการอื่น เป็นผู้จัดซื้อ เพื่อใช้ในราชการของส่วนราชการนั้น แล้วแต่กรณี โดยกระทรวงการคลังจะเป็นผู้มอบอำนาจให้เป็นผู้ทำนิติกรรมและรับโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์นั้น การขาย การแลกเปลี่ยน การให้การจำหน่ายจ่ายโอน หรือจัดหาประโยชน์ (ถ้ามี) ให้มีคณะกรรมการถาวรขึ้น คณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนส่วนราชการ ผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์เป็นกรรมการและอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่พิจารณา เสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ การดำเนินการขาย แลกเปลี่ยน ให้ จำหน่าย โอน หรือจัดหาประโยชน์ ในอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่วนราชการผู้ครอบครอง และใช้ประโยชน์ ไม่ต้องการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ นั้นอีกต่อไป โดยให้ส่วนราชการดังกล่าวทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีได้โดยตรง เมื่อได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงการคลังก็จะมอบอำนาจให้หัวหน้าส่วนราชการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการไปดำเนินการต่อไปเมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้ส่วนราชการนั้นแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบส่วนรายได้ที่เกิดจากการดำเนินการดังกล่าวให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน
ความเดิมเรื่องที่ราชพัสดุนั้น มิได้มีไว้เป็นที่แจ้งชัดโดยกฎหมายใดมีแต่ เฉพาะพระบรมราชโองการรัชกาลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนมีนาคม ๒๔๖๔ ที่ทรงวินิจฉัยคำกราบบังคมทูลของเหล่าเสนาบดีกระทรวงการคลังมหาสมบัติในขณะนั้น มีใจความว่า
(ก) ที่ราชพัสดุเป็นทรัพย์คงพระคลังอย่างหนึ่ง
(ข) มีคงกระทรวงมาแต่เดิมบ้าง ได้มาด้วยการเป็นที่หลวง หวงห้ามไว้ใช้ในราชการบ้าง ด้วยการที่ราษฎรเวนคืนให้แก่หลวงบ้าง หรือได้รับ หรือยึดจากเจ้าหน้าที่ภาษีนายอากรก็มี
(ค) ทรัพย์นี้กระจัดกระจายอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ
(ง) ให้กระทรวงพระคลังมหาสมบัติจัดการรวบรวมทรัพย์ จากกระทรวงต่าง ๆ มาปกครองดูแลรักษาไว้แต่แห่งเดียว
(จ) เมื่อกระทรวงใดจะใช้เพื่อราชการใด ก็ให้ยืมไปโดยไม่ ต้องเช่า(เมื่อเลิกใช้ให้ส่งคืนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ)
(ฉ) ที่แห่งใดยังมิได้ใช้ราชการ ให้กระทรวงพระคลังมหา สมบัตินำไปจัดประโยชน์หารายได้เข้าแผ่นดิน
(ช) ที่ใดควรขายก็ให้ขายไป เคยมีการพิจารณาในทางกฎหมายว่า พระบรมโองการฯ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์มีผลเป็นกฎหมาย เพราะใช้บังคับแก่กระทรวง ทบวง กรม เสมือนพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ในปัจจุบัน ที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของกระทรวงต่าง ๆ และโดยที่ไม่มีกฎหมายอื่นใดลบล้างพระบรมราชโองการนี้ แม้ปัจจุบันจะมีพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ พระบรมราชโองการส่วนใดที่ไม่ขัดแย้ง หรือที่พระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ ยังไม่ได้กำหนดไว้ก็ยังมีผลใช้บังคับได้