กรมธนารักษ์
กรมธนารักษ์
THE TREASURY
DEPARTMENT
เมนู
เมนูทางลัด

ประวัติความเป็นมา

ประวัติและความเป็นมา

ปี พ.ศ. 2524 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดตั้งสำนักงานกลางกำหนดราคาที่ดินและโรงเรือน โดยกำหนดให้เป็นหน่วยงานภายในกองวิชาการ กรมที่ดิน เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาที่ดิน และโรงเรือนตามหลักวิชาการ และเป็นหน่วยงานกลางให้คำปรึกษาแนะนำบริการด้านข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการประเมินราคาทรัพย์สินแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มดำเนินการประเมินที่ดินแบบรายบล็อกในพื้นที่เขตเทศบาลเมือง 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา พิษณุโลก ลำปาง ภูเก็ต และสงขลา เป็นลำดับแรก

ปี พ.ศ. 2527 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินจัดตั้งสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน เป็นส่วนราชการระดับกอง สังกัดกรมที่ดิน ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม

ปี พ.ศ. 2543 กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดิน ปรับปรุงโครงสร้างเป็นสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

ปี พ.ศ. 2545 มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม สำนักประเมินราคาทรัพย์สินได้โอนภารกิจมาสังกัดกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกาแก้ไขบทบัญญัติให้สอดคล้องกับการโอนอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้นมา

ภารกิจ/พันธกิจ

มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้

        ดำเนินการเกี่ยวกับการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่นตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องใน เขตกรุงเทพมหานคร เสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในการประเมินราคาทรัพย์สินและทรัพย์สินอื่น ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดทำยุทธศาสตร์และแผนงาน รวมทั้งควบคุม กำกับและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านการประเมินราคาทรัพย์สินของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐประจำจังหวัดในกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่อธิบดีมอบหมาย
       บัญชีราคาประเมินที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง/ห้องชุด มีการประกาศใช้คราวละ 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศใช้ ในกรณีที่ปรากฏว่าที่ดินบริเวณใดมีราคาเฉลี่ยของราคาซื้อขายที่ดินต่างจากราคาประเมินตามบัญชีราคาประเมินที่ดินที่ใช้บังคับอยู่เกินร้อยละสิบห้า สามารถปรับปรุงแก้ไขราคาประเมินก่อนครบ 4 ปี หรือในกรณีที่มีความจำเป็น อาจขยายเวลาการใช้บัญชีฯ ออกไปอีกได้

วิสัยทัศน์

ประเมินราคาทรัพย์สินตามหลักการสากล เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม

ประเด็นยุทธศาสตร์

  1. เสริมสร้างความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์
  2. บริหารจัดการงานด้านประเมินราคาทรัพย์สินด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
  3. ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยวิเคราะห์ราคาประเมินทรัพย์สินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อสังคม

เป้าประสงค์

ราคาประเมินทรัพย์สินมีความถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

ระยะเวลาการประกาศใช้บัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์

การประกาศใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง จะมีการประกาศทุกรอบสี่ปี ซึ่งรอบบัญชี ที่ประกาศใช้ในปัจจุบัน คือรอบบัญชี พ.ศ. 2566-2569 โดยระหว่างรอบบัญชีหากมีกรณีที่ปรากฏว่าที่ดินบริเวณใด มีราคาเฉลี่ยของราคาซื้อขายที่ดินต่างจากราคาประเมินตามบัญชีราคาประเมินที่ดินที่ยังคงใช้อยู่เกินร้อยละสิบห้า ให้คณะกรรมการประจำจังหวัดกำหนดราคาประเมินที่ดินใหม่ และแก้ไขราคาประเมินที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินใหม่ โดยไม่ต้องรอให้ครบรอบการใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินนั้น
     
         สำหรับการประกาศใช้บัญชีราคาประเมินห้องชุด ให้ใช้ได้ไม่เกินสี่ปีนับตั้งแต่วันที่ประกาศ ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาแล้ว ยังไม่มีการประกาศบัญชีราคาประเมินห้องชุดขึ้นใหม่ ให้ใช้บัญชีราคาประเมินห้องชุดที่ใช้อยู่เดิมไปพลางก่อนจนกว่าจะมีการประกาศบัญชีราคาประเมินห้องชุดขึ้นใหม่

กระบวนการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์

         วัตถุประสงค์การจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 เป็นไปตามวัตถุประสงค์เพื่อให้นำไปใช้เป็นเกณฑ์อ้างอิงหรือเป็นฐาน ในการจัดเก็บภาษีอากรและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายหรือเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นของรัฐ  ซึ่งย่อมมีผลกระทบต่อผู้นำไปใช้ ทั้งหน่วยงาน นิติบุคคล หรือบุคคลทั่วไป เพราะเป็นการเพิ่มภาระที่ต้องจ่ายภาษีตามหน้าที่ที่กำหนดในกฎหมาย อีกทั้งพระราชบัญญัติการประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.2562  มาตรา 6 ข้อ (3) ได้กำหนดไว้ว่า กระบวนการประเมินราคาทรัพย์สินต้องมีความชัดเจนและ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้นำไปใช้เพราะจัดทำโดยหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งต้องมีหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นธรรม และเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

         การคัดค้านราคาประเมินที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด

         เมื่อมีการประกาศใช้บัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแล้ว พบว่าราคาประเมินไม่ถูกต้อง เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอาจคัดค้านราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเฉพาะของตนเองในบัญชีราคาประเมินที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างได้ หากเป็นการกำหนดราคาประเมินไม่ถูกต้องตามพื้นที่ ลักษณะ สภาพ และทำเลที่ตั้ง ให้คัดค้านราคาประเมินภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้ หรือหากกำหนดราคาประเมินไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์วิธีการที่คณะกรรมการฯ กำหนด ให้คัดค้านราคาประเมินภายใน 90 วัน นับแต่วันเริ่มใช้บัญชีราคาประเมินทรัพย์สิน โดยผู้ขอคัดค้านจะต้องยื่นคำคัดค้านตามแบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดต่อคณะกรรมการประจำจังหวัดที่เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่

6 ธันวาคม 2561 | เข้าชม 121624 ครั้ง
เลือกข่าวที่ต้องการติดตาม