กรมธนารักษ์
กรมธนารักษ์
THE TREASURY
DEPARTMENT
เมนู
เมนูทางลัด

การใช้ที่ราชพัสดุทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และยกระดับคุณภาพชีวิต

ที่ราชพัสดุเป็นอสังหาริมทรัพย์ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร เพื่อให้บรรลุผลตามนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐกำหนดขึ้น เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศชาติสำหรับการใช้ที่ราชพัสดุทางด้านสังคมตามนโยบายของรัฐแบ่งได้ ดังนี้

  1. การขยายการศึกษาพื้นฐานที่ราชพัสดุสนับสนุนกิจการของรัฐ โดยใช้เป็นที่ตั้งโรงเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ
  2. ยกระดับคุณภาพอนามัยของประชาชนให้ดีขึ้นที่ราชพัสดุสนับสนุนกิจการของรัฐโดยใช้เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลของรัฐ
  3. ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

กรมธนารักษ์ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยโดยใช้พื้นที่ที่ราชพัสดุที่มีอยู่ทั่วประเทศ จัดให้การเคหะแห่งชาติเช่าในอัตราต่ำสุด เพื่อให้การเคหะแห่งชาตินำไปก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยต่อไป

สำหรับลักษณะโครงการนั้นการเคหะแห่งชาติจะสร้างอาคารเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเขตเมือง และกลุ่มข้าราชการในลักษณะอาคารเช่าแบบห้องนอนอเนกประสงค์ และแบบ 1 ห้องนอน ขนาด ตั้งแต่ 24 ตารางเมตร ถึง 31 ตารางเมตร หรือ อาคารเรือนแถว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่ โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการในจังหวัดที่มีความต้องการ เพื่อช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่มีความสามารถไม่เพียงพอที่จะเช่าซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ให้สามารถเช่าที่อยู่อาศัยได้มาตรฐาน ในราคาที่รับภาระได้

ซึ่งในเบื้องต้นจะดำเนินการจัดสร้างใน 20 - 25 จังหวัด กล่าวคือ จังหวัดนนทบุรี ชลบุรี นครปฐม สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี เพชรบุรีสงขลา หรือที่อื่น ๆ ที่การเคหะแห่งชาติเห็นว่ามีความเหมาะสมเพียงพอโดยกรมธนารักษ์ จะคิดค่าเช่าพื้นที่ในอัตราที่ต่ำที่สุด ส่วนในระยะเวลาในการเช่าพื้นที่ประมาณ 30 ปี ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ต้นทุนการจัดสร้างโครงการดังกล่าว มีราคาต่ำอันส่งผลให้คิดค่าเช่าจากผู้อยู่อาศัยในโครงการ ในราคาที่ผู้มีรายได้น้อย สามารถรับภาระได้ต่อไป

  • กรมธนารักษ์ร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติในโครงการ "การพัฒนาพื้นที่และฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง" ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียน กท 270370 เนื้อที่ใช้ประโยชน์ประมาณ 216 ไร่ โดยให้การเคหะ แห่งชาติลงทุนก่อนสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับชดเชยผู้อยู่อาศัยเดิม และให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการพัฒนาเชิงพาณิชย์ กรมธนารักษ์ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และคนจนในเมือง โดยได้สนับสนุนในโครงการ "บ้านมั่นคง" จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลงชุมชนเก้าเส็ง จังหวัดสงขลา (สข. 19) และแปลงแหลมรุ่งเรือง จังหวัดระยอง (รย. 94 และ รย3 110) ซึ่งลักษณะโครงการจะเน้นการดำเนินในพื้นที่ที่เป็นชุมชนแออัดในที่ดินของรัฐ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาการขาดความมั่นคงในการอยู่อาศัย โดยเน้นหลักการร่วมกันทำในการพัฒนาโครงการ


2. การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โครงการจัดสร้างสวนสาธารณะ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีนโยบายสร้างสวนสาธารณะทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต สุขภาพจิตของประชาชน ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชนเมือง ดังตัวอย่างโครงการ ดังนี้

  1. อุทยาน "เฉลิมกาญจนาภิเษก"

    ตำบลบางศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี และบนที่ดินที่จัดหาสมทบเข้าในพื้นที่โครงการฯรวมเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ เพื่อน้อมเกล้า ฯ ถวายในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงครองราชย์เป็นปีที่ 50 และเพื่อเป็นการสนองพระราชดำริที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดสร้างสวนสาธารณะ สำหรับประชาชนใช้พักผ่อนหย่อนใจเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวมพันธุ์ไม้ชายน้ำ และพืชพันธุ์อื่น ๆ ให้สมบูรณ์เท่าที่สภาพของพื้นที่จะอำนวย และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ(Waterscape) และสวนรูปแบบไทย (Thai Landscape) อันเป็นเอกลักษณ์ของสวนแห่งนี้เนื่องจากพื้นที่นี้มีสภาพน้ำที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปี

  1. อุทยาน "เบญจสิริ"

    ด้วยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2532 ให้กรมอุตุนิยมวิทยา ย้ายที่ทำงานออกจากที่ราชพัสดุ บริเวณถนนสุขุมวิท ไปสร้างในที่แห่งใหม่ และให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ดำเนินการสร้างสวน สาธารณะ เพื่อน้อมเหล้าฯถวายในวโรกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระชนพรรษา 60 พรรษา ในปี พ.ศ. 2535 สวนเบญจสิริสร้างอยู่บนที่ราชพัสดุบริเวณถนนสุขุมวิท เนื้อที่ประมาณ 30 ไร่ ส่วนแห่งนี้เปรียบเสมือนโอเอซิสในทะเลทราย เนื่องจากย่านสุขุมวิท ขาดแคลนที่โล่ง เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสวนสาธารณะ ในระดับชุมชน (Community Park) ประเภทการใช้สวนความถี่สูง ที่เอกลักษณ์ส่วนหนึ่งแสดงถึงการเฉลิมพระเกียรติโดยให้มีความเขียวขจีมากที่สุด ให้ประชาชนทุกวัยทุกระดับใช้ประโยชน์มากที่สุด มีการ ควบคุมการเปิด ปิด มีการจัดระบบการสัญจรทั้งในและนอกสวนสาธารณะ ซึ่งให้ความปลอดภัยมากที่สุด ภายในสวนประกอบด้วย สวนพืชพันธุ์ไม้ สวนหินประดับ น้ำพุกระโดด ประติมากรรมการดูแล และบำรุงรักษาสวนสาธารณะแห่งนี้ เนื่องจากจะต้องมีความพร้อมในเรื่องงบประมาณบุคลากร ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์เกี่ยวกับการดูแล บำรุงรักษา ซึ่งกรมธนารักษ์เห็นว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อม และได้นำแนวความคิดดังกล่าวเสนอคณะ รัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2535 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบกรมธนารักษ์ได้ส่งมอบสวนสาธารณะอุทยานเบญจสิริ ให้กรุงเทพมหานครรับไปดูแลตั้งแต่วันที่4 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไป

  1. สวนสาธารณะ "เบญจกิติ"

    คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2539 เห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2538 อนุมัติในหลักการให้ย้ายโรงงานผลิตยาสูบจากพื้นที่เดิมไปก่อสร้างยังที่แห่งใหม่ 2 แห่งคือ โรงงานผลิตยาสูบ 6 ไปก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุที่ตำบลดอนฉิมพลีอำเภอบางน้ำเปรี้ยวจังหวัดฉะเชิงเทราและโรงงานยาสูบ 7 ไปก่อสร้างบนที่ดินของโรงงานยาสูบที่ ตำบลแม่โจ้ อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงการคลังจึงได้กำหนดให้มีการพัฒนาพื้นที่โรงงานยาสูบเดิมบริเวณคลองเตยให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในวโรกาสที่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนพรรษาครบ 5 รอบ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า "เบญจกิติ" นอกจากนี้สวนสาธารณะแห่งนี้ ยังเป็นโครงการตามพระราชดำริในด้าน

การพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดย ใช้ที่ราชพัสดุ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ ซึ่งจะจัดพื้นที่ให้เป็นพื้นที่โล่งสีเขียวประกอบด้วย สวนป่าสมบูรณ์สวนน้ำ สวนสุขภาพ สถานที่ออกกำลังกาย สวน พันธุ์ไม้หายาก และสวนต้นไม้ในวรรณคดี ซึ่งได้มีการส่งมอบพื้นที่ใช้ประโยชน์ มอบผลการศึกษาโครงการรวมทั้งออกแบบก่อสร้างสวนสาธารณะดังกล่าวโดยใช้วงเงิน 180 ล้านบาท (จากเงินกำไรส่งรัฐบาลของโรงงานยาสูบ)เริ่มดำเนินการตั้งปีงบประมาณ 2540 โดยในปีงบประมาณ 2543 จะดำเนินการออกแบบและจัดสร้างสวนในพื้นที่ส่วนที่ 1 จนกว่าจะแล้วเสร็จ

  1. สนามกีฬา และสวนสาธารณะ

    กระทรวงกลาโหมได้ส่งมอบที่ราชพัสดุบริเวณแยกเกียกกาย ถนนทหาร เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ 30 ไร่ 80 ตารางวา ซึ่งเดิมใช้ประโยชน์เป็นโรงงานทอผ้าของกระทรวงกลาโหมให้แก่กระทรวงการคลังและกระทรวงการคลังได้ส่งมอบที่ราชพัสดุดังกล่าวให้แก่กรุงเทพมหานครเพื่อนำไปก่อสร้างสนามกีฬาและสวนสาธารณะ ตามโครงกาเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

  1. โครงการก่อสร้างสวนสาธารณะชุมชน

    กรมธนารักษ์ได้สนับสนุนให้ส่วนราชการ และองค์การปกครองท้องถิ่นเพื่อใช้ที่ราชพัสดุก่อสร้างสวนสาธารณะชุมชนทั่วประเทศ เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2538 กำหนดหลักการให้กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ ์ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ราชพัสดุให้พิจารณานำที่ราชพัสดุไป ใช้ในการจัดสร้างสวนสาธารณะ สำหรับเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของ ประชาชนรวมทั้งกิจการสาธารณะประโยชน์อื่น ๆ เพื่อเป็นการพัฒนา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านสุขภาพอนามัยโดยการเล่นกีฬา ออกกำลังกายกับทั้งยังช่วยเพิ่ม พื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนต่าง ๆ และช่วยฟื้นฟูสภาพแวดล้อม กรมธนารักษ์จึงได้จัดทำโครงการสร้างสวนสาธารณะทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็กบนที่ราชพัสดุหลายโครงการด้วยกัน และนอกจากนี้กรมธนารักษ์ยังได้ให้ความร่วมมือกับส่วนราชการและองค์การปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ใช้ที่ราชพัสดุเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม อีกหลายโครงการด้วยกัน

  1. โครงการใช้ที่ราชพัสดุเพื่อศาสนา

    กรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุเพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจของทุกศาสนา เช่น เป็นที่ตั้งวัด มัสยิด คริสตจักร


สำนักบริหารที่ราชพัสดุกรุงเทพมหานคร โทร 0 2618 6328 E-mail : bsp@treasury.go.th
สำนักบริหารที่ราชพัสดุ 1 โทร 0 2279 2950 E-mail : sp1@treasury.go.th
สำนักบริหารที่ราชพัสดุ 2 โทร 0 2273 0899 E-mail : sp2@treasury.go.th

5 ธันวาคม 2561 | เข้าชม 2,013 ครั้ง

ข่าวแนะนำ

  • จุดมุ่งหมาย
    5 ธันวาคม 2561
    เข้าชม 1,463 ครั้ง
  • การใช้ที่ราชพัสดุในทางราชการ
    5 ธันวาคม 2561
    เข้าชม 6,729 ครั้ง
  • การใช้ที่ราชพัสดุทางด้านเศรษฐกิจ
    5 ธันวาคม 2561
    เข้าชม 10,003 ครั้ง
เลือกข่าวที่ต้องการติดตาม