กรมธนารักษ์
กรมธนารักษ์
THE TREASURY
DEPARTMENT
เมนู
เมนูทางลัด

เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน

ในรัชกาลปัจจุบัน กรมธนารักษ์ได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนออกใช้ในระบบเศรษฐกิจเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2493 เป็นต้นมา ซึ่งมีหลากรุ่น หลายแบบ โดยได้ปรับเปลี่ยนรูปลักษณะ ลวดลาย อัตราส่วนผสม และกรรมวิธีการผลิตเรื่อยมา เพื่อให้สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ตลอดจนมีขนาดน้ำหนักเหมาะสม สะดวกต่อการพกพา การใช้สอยและยากต่อการปลอมแปลการปรับเปลี่ยนรูปลักษณะ อัตราส่วนผสม ตลอดจนน้ำหนักและขนาดของเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนที่ผ่านมาเป็นการปรับเปลี่ยนเป็นครั้งคราวและเป็นบางราคาเท่านั้น จนกระทั่งใน พ.ศ. 2530 กรมธนารักษ์ได้ปรับปรุงการผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนทั้งระบบพร้อมกันทุกชนิดราคา โดยเริ่มทยอยผลิตออกใช้หมุนเวียนได้บ้างเป็นบางราคา และสามารถผลิตได้ครบทุกชนิดราคาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา รวมทั้งได้ผลิตเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชนิดราคา 10 บาทขึ้นเป็นครั้งแรกด้วย เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชุดปรับปรุงใหม่ซึ่งประกอบด้วย ชนิดราคา 10 บาท 5 บาท 1 บาท 50 สตางค์ 25 สตางค์ 10 สตางค์ 5 สตางค์ และ 1 สตางค์ รวมทั้งสิ้น 8 ชนิดราคา กรมธนารักษ์ได้ผลิตขึ้นทุกปี โดยเปลี่ยนปี พ.ศ. บนเหรียญตามปีที่ผลิต 

ลวดลายบนเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนชุดปัจจุบัน เป็นลวดลายที่แสดงถึงสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อแสดงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ มีคำว่า " ประเทศไทย " เพื่อแสดงถึงสถาบันชาติ และด้านหลังเป็นรูปวัดเพื่อแสดงถึงสถาบันศาสนา โดยเหรียญแต่ละชนิดราคาจะมีวัดสำคัญ ๆ แตกต่างกันไป


ชนิดราคา 10 บาท

เป็นรูปพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณะวัดครั้งใหญ่ และพระราชทานนาม" วัดอรุณราชวราราม" 10 บาท


ชนิดราคา 5 บาท

เป็นรูปพระอุโบสถวัดเบญจมพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเดิมเป็นวัดโบราณ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระอุโบสถและถาวรวัตถุอื่น ๆ เพิ่มขึ้นและพระราชทานนาม " วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม" 5 บาท


ชนิดราคา 1 บาท

เป็นรูปพระศรีรัตนเจดีย์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 โดยสร้างตามรูปแบบของพระมหาเจดีย์ในวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระนครศรีอยุธยา 1 บาท


ชนิดราคา 50 สตางค์

เป็นรูปพระเจดีย์วัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1929 ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะวัดเป็นอารามหลวงตั้งแต่ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2506 50 สตางค์


ชนิดราคา 25 สตางค์

เป็นรูปพระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 18 ตามแบบเจดีย์ลังกา 25 สตางค์


ชนิดราคา 10 สตางค์

เป็นรูปพระเจดีย์วัดพระธาตุเชิงชุม จังหวัดสกลนคร ไม่ปรากฏประวัติการสร้างที่แน่ชัด ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2478 10 สตางค์


ชนิดราคา 5 สตางค์

เป็นรูปพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ยังไม่แล้วเสร็จก็เสด็จสวรรคตก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ดำเนินการต่อจนสำเร็จ 5 สตางค์


ชนิดราคา 1 สตางค์

เป็นรูปพระเจดีย์วัดพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำพูน สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 1440 ในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา โปรดให้สร้างพระบรมธาตุให้สูงขึ้นและปรับเปลี่ยนลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์แบบลังกา 1 สตางค์


ปี พ.ศ. 2548 กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมธนารักษ์ออกใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน ชนิดราคา 2 บาท เพิ่มขึ้นอีก 1 ชนิดราคา เป็นรูปพระบรมบรรพต วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

ปี พ.ศ. 2551 กระทรวงการคลังได้อนุมัติให้กรมธนารักษ์ออกใช้เหรียญกษาปณ์หมุนเวียน เนื่องจากในปัจจุบันราคาโลหะในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นให้โลหะที่ใช้ผลิตเหรียญกษาปณ์หลายชนิดราคามีมูลค่าสูงกว่าราคาหน้าเหรียญ จำเป็นต้องปรับปรุงลักษณะของเหรียญกษาปณ์เพื่อให้ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเหรียญกษาปณ์มีความเหมาะสม จึงได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ออกใช้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจดังนี้ เหรียญกษาปณ์โลหะสองสี (สีขาวและสีทอง)ชนิดราคา 10 บาท เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) เคลือบไส้ทองแดง ชนิดราคา 5 บาท เหรียญกษาปณ์โลหะสีทอง (ทองแดงผสมนิกเกิลและอลูมิเนียม) ชนิดราคา 2 บาท เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (ไส้เหล็กชุมนิกเกิล) ชนิดราคา 1 บาท เหรียญกษาปณ์โลหะสีแดง (ไส้เหล็กชุบทองแดง) ชนิดราคา 50 สตางค์ เหรียญกษาปณ์โลหะสีแดง (ไส้เหล็กชุบทองแดง) ชนิดราคา 25 สตางค์ เหรียญกษาปณ์โลหะสีขาว (อลูมิเนียม) ชนิดราคา 10 สตางค์ 5 สตางค์ 1 สตางค์


สำนักบริหารเงินตรา โทร : 0 2280 7404 7406 E-mail : bcm@treasury.go.th

5 ธันวาคม 2561 | เข้าชม 83657 ครั้ง
เลือกข่าวที่ต้องการติดตาม