กรมธนารักษ์
กรมธนารักษ์
THE TREASURY
DEPARTMENT
เมนู
เมนูทางลัด

สาระน่ารู้

ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด สำคัญอย่างไร?

  1. ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด นำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าธรรมเนียม ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่าง ๆ ณ สำนักงานที่ดิน เช่น ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน ให้ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน
  2. ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด นำมาใช้เป็นฐานเพื่อรองรับตามร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ฉบับใหม่ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กทม. เมืองพัทยา เทศบาล อบต. เป็นต้น เป็นผู้เรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้ครอบครองที่ดินใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย
  3. ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด นำมาใช้เป็นฐานในการอ้างอิงเพื่อจ่ายเงิน ค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530
  4. ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด นำมาใช้เป็นฐานในการอ้างอิงเพื่อการพิจารณาเกี่ยวกับการให้สินเชื่อและการทบทวนสินเชื่อของสถาบันการเงินต่าง ๆ
  5. ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด นำมาใช้เป็นพยานเอกสารในการพิจารณาอรรถคดีของศาล เช่น ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง เป็นต้น

 

ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... มีผลกระทบกับผู้เสียภาษีอย่างไร?

ปัจจุบันสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. .... ทั้งนี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลทำให้กฎหมายโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายภาษีบำรุงท้องที่ ที่ใช้อยู่ ในขณะนี้ถูกยกเลิก โดยกฎหมายฉบับใหม่มีสาระสำคัญดังนี้

  1. รายได้จากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดจะเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปใช้ ในการพัฒนาท้องถิ่น โดยไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้ของรัฐบาลส่วนกลาง
  2. ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ได้แก่ บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ผู้ครอบครองหรือ ทำประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของรัฐ
  3. หน่วยงานจัดเก็บภาษี ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น กทม. เมืองพัทยา เทศบาล อบต. เป็นต้น
  4. ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้างและห้องชุด
  5. ฐานภาษีจะใช้บัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างและห้องชุด ซึ่งคณะอนุกรรมการประจำจังหวัดกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์
  6. อัตราภาษีตามประเภทการใช้ประโยชน์ เช่น เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย หรือประโยชน์อื่น ๆ และที่ไม่ใช้ประโยชน์ เช่น ที่รกร้าง ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่จะมีมาตรการการบรรเทาการชำระภาษีสามปีแรก โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด

 

การให้บริการราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง และห้องชุด

  1. ติดต่อด้วยตนเอง ณ สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร บี) ชั้น 6 ด้านทิศตะวันตก ซอยแจ้งวัฒนะ 7 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 โทรศัพท์ 0 2142 2465-7 โทรสาร 0 2143 8758 ในวันและเวลาราชการ
  2. สอบถามด้วยจดหมายโดย เรียน “อธิบดีกรมธนารักษ์” ซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400
  3. ติดต่อผ่านทางอีเมล์ของสำนักประเมินราคาทรัพย์สินได้ที่ pvb@treasury.go.th
  4. สืบค้นผ่านทางเว็บไซด์ของกรมธนารักษ์ treasury.go.th รายการ “เมนู” หัวข้อ “บริการอื่นๆ” หัวข้อย่อย “e-property Valuation สืบค้นราคาประเมิน”

อนึ่ง ในปัจจุบัน ”ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน” ที่สามารถสืบค้นได้มีเฉพาะเอกสารสิทธิประเภท “โฉนดที่ดิน” และ “หนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ส. 3 ก.)” เท่านั้น ผู้สอบถามควรทราบถึง เลขที่โฉนดที่ดินหรือเลขที่ น.ส. 3 ก. เลขระวาง เลขที่ดิน หน้าสำรวจ (ใช้สำหรับโฉนดที่ดิน) ตำบล อำเภอ จังหวัด เนื้อที่ที่ดิน สำหรับ ”ราคาประเมินทุนทรัพย์ โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง” ผู้สอบถามควรทราบถึงสิ่งปลูกสร้างประเภทนั้น ๆ เช่น บ้าน ตึกแถว ฯลฯ และ “ราคาประเมิน ทุนทรัพย์ห้องชุด” ผู้สอบถามควรทราบถึง ชื่ออาคารชุด อาคารชุดย่อย (เช่น อาคาร A, อาคารพลอยไพลิน เป็นต้น) เลขที่ห้องชุด ชั้นที่ ที่ตั้งของอาคารชุด ตำบล (แขวง) อำเภอ (เขต) และจังหวัด


กองประเมินราคาทรัพย์สิน โทร : 0 2142 2413 Email : pvb@treasury.go.th

6 ธันวาคม 2561 | เข้าชม 20040 ครั้ง
เลือกข่าวที่ต้องการติดตาม